สถาบันวิจัยศิลปะฯ ร่วมสนับสนุนการอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน”

สถาบันวิจัยศิลปะฯ ร่วมสนับสนุนการอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน”

เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2563 บุคลากรสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้สนับสนุนและเข้าร่วมการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน” ณ ชุมชนโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

สืบเนื่องจากโครงการลวดลายพื้นบ้านในงานหัตถกรรมชุมชนโพนทรายฯ ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการพัฒนาคลังข้อมูลและเครือข่ายข้อมูล ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ปีงบประมาณ 2563 แล้วนั้น ทีมวิจัยชุมชนโพนทรายร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อเป็นกิจกรรมสนับสนุน ส่งเสริมด้านองค์ความรู้และกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนให้แก่ทีมวิจัยชุมชนให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการดำเนินโครงการในระยะแรก (การายงานความก้าวหน้า) ได้กำหนดให้ทีมวิจัยต้องศึกษาข้อมูล “ประวัติศาสตร์ชุมชน” ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญเป็นลำดับแรกของโครงการ พร้อมกับการนำเสนอผ่านเครื่องมือศึกษาชุมชน ได้แก่ แผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน และประวัติศาสตร์ชุมชน ตามที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ได้จัดอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจแก่ทีมวิจัยชุมชนเมื่อวันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

กิจกรรมครั้งนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรก ทีมสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานฯ ได้ชี้แจงโครงการแก่ทีมวิจัยชุมชนถึงที่มาของโครงการ ความสำคัญ แผนกิจกรรม ตลอดจนบทบาทการเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานในครั้งนี้ ซึ่งสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานฯ ได้กำหนดบทบาทและสร้างความเข้าใจแก่ทีมวิจัยชุมชนในฐานะการเป็น “เครือข่ายภายนอกชุมชน” ที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และองค์ความรู้เชิงวิชาการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการอันจะเป็นประโยชน์ต่อทีมวิจัยชุมชนโพนทราย ตลอดจนการประสานงานร่วมระหว่างผู้ให้ทุนและชุมชน

ประเด็นที่สอง การอบรมเรื่อง “กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน” โดยมีอาจารย์ณรงฤทธิ์ สุมาลี หัวหน้าสาขาวิชามานุษยวิทยาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว คณะศิลปะศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรในกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งวิทยากรได้อธิบายให้เข้าใจถึงความหมายและความสำคัญของคำว่า “หมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น” ถึงขอบเขต ความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันผ่านมิติทางสังคม วัฒนธรรมและการใช้ทรัพยากร คำว่า “ประวัติศาสตร์” ที่มีลักษณะของการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของผู้คน มิติเวลา การวิพากษ์และตีความหลักฐาน การอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล คำว่า “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น” เป็นการประกอบคำระหว่างคำว่า “ประวัติศาสตร์” กับ “ท้องถิ่น” มีลักษณะการศึกษาตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ทุกประการ โดยมุ่งเน้นความสำคัญที่เป็นการศึกษาเรื่องราวของผู้คนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในท้องถิ่นแต่ละระดับ ต่อมาเป็นการอธิบายถึงรายละเอียดของวิธีการศึกษาในประเด็นต่างๆ อันเป็นสาระสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จากตรงนี้ วิทยากรได้เน้นย้ำว่า “การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นต้องรับใช้คนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ” สุดท้ายได้อธิบายถึงเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการศึกษาข้อมูล เพราะเครื่องมือต่างๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าถึงและได้มาซึ่งข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ชุมชน แผนที่เดินดิน ปฏิทินชุมชน ผังเครือญาติ ผังองค์กรชุมชน และประวัติชีวิต นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกประการของการใช้เครื่องมือนั้น คือ “การตั้งประเด็นและตั้งคำถาม” ที่สอดคล้องกับเครื่องมือที่นำมาใช้ เพราะพื้นฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือเรื่องราวอื่นๆ ในชุมชน ต้องผ่านกระบวนการดังกล่าวเป็นลำดับแรกๆ แทบทั้งสิ้น คือ “ใคร อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ทำไม” ร่วมกับการฝึกใช้เครื่องมืออย่างสม่ำเสมอให้เกิดความเข้าใจและชำนาญจะช่วยให้การใช้เครื่องมือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่สาม การฝึกปฏิบัติการใช้เครื่องมือศึกษาข้อมูลชุมชน ดังที่กล่าวมาแล้วถึงเครื่องมือที่ทีมวิจัยสามารถนำมาใช้นั้นหลายประเภท ในครั้งนี้ทีมวิจัยได้ฝึกปฏิบัติโดยใช้ “ปฏิทินชุมชน” เป็นตัวอย่าง โดยวิทยากรได้เพิ่มเติมในรายละเอียดของการใช้เครื่องมือในขั้นตอนต่างๆ เช่น วิธีการวาดภาพปฏิทิน วิธีการตั้งประเด็น คำถาม การเขียนกรอบประเด็น รายละเอียดของข้อมูลบนเครื่องมือที่จำเป็น เป็นต้น นอกจากการทำปฏิทินชุมชนแล้ว สิ่งสำคัญของเครื่องมือประเภทนี้และประเภทอื่นๆ นั้นต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลให้สัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย เช่น ประเพณีปล่อยโคมได้เลิกทำเพราะช่างทำโคมลอยนั้นเสียชีวิตและไม่คนสืบทอด ซึ่งเชื่อมโยงกันระหว่างปฏิทินชุมชนกับประวัติชีวิต อีกตัวอย่าง …ชุมชนมติในการเข้าร่วมการประกวด “ชุมชนพัฒนา” ช่วงทศวรรษ 2540 มีผลให้ชุมชนได้วางผังชุมชน และได้รูปแบบของแผนผังชุมชนที่มีความสวยงามจนได้รับรางวัลชนะเลิศ… ประเด็นนี้สามารถเชื่อมโยงระหว่างแผนที่เดินดิน (แผนที่ชุมชน) ที่สอดคล้องกับปฏิทินชุมชน  เป็นต้น

ในการจัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน” นี้ เป็นไปตามแผนกิจกรรมโครงการ และชุมชนจะได้นำความรู้ ความเข้าใจดังกล่าวไปใช้ในการดำเนินศึกษาข้อมูลชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินงานของทีมวิจัยหากเกิดปัญหาหรือต้องการการสนับสนุนด้านการจัดกิจกรรมและองค์ความรู้ ในส่วนสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานฯ จะได้ประสานงานร่วมกับทีมวิจัยชุมชนโพนทรายต่อไป

 

ข่าว : นครินทร์ ทาโยธี

ภาพ : วัชระ พิมพ์จันทร์