สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานก่อตั้งขึ้นด้วยการตระหนักในคุณค่าความสำคัญด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสานโดยมีความเป็นมาดังนี้
พ.ศ.๒๕๑๓ เริ่มดำเนินการในรูปการวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โดยคณาจารย์และนิสิตที่สนใจ และได้ตั้งหน่วยงานภายใต้ชื่อ “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีที่ตั้งอยู่ ณ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตมหาสารคาม
วันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓ สภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน”
เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๓ คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการฯ เห็นชอบสมควรสนับสนุนให้จัดตั้งเป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรม”
วันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ อนุมัติในหลักการให้จัดตั้งเป็น “สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน”
วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๙ทบวงมหาวิทยาลัยประกาศให้ “ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เป็น“สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน”โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษเล่ม๑๐๓ตอนที่๑๙๘หน้า๙-๑๐ ลงวันที่๑๒พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๙ซึ่งถือเป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ
พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้รับจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างอาคารซึ่งเป็นอาคารทรงไทยอีสานประยุกต์๕ชั้น (รวมชั้นใต้หลังคา) มีเอกลักษณ์แสดงถึงความงามทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสานเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทางศิลปะและวัฒนธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนในหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต (Master of Arts in Cultural Science) แบ่งเป็น๓แขนงวิชาคือ๑. สาขาการบริหารทางวัฒนธรรม๒. สาขาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว๓. สาขาการวิจัยทางวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๔๘ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๘วันที่ ๒๙เมษายน ๒๕๔๘ ให้เปิดสอนในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ (Doctor of Philosophy in Cultural Science) และสามารถเปิดรับนิสิตรุ่นแรกระดับปริญญาเอกในภาคเรียนที่๑/๒๕๔๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔หลักสูตรวัฒนธรรมศาสตร์ได้แยกเป็น “คณะวัฒนธรรมศาสตร์” โดยมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาสารคามครั้งที่ ๑/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ ให้มีชื่อเรียกว่า “Faculty of Culturalscience”
พ.ศ. ๒๕๕๔ นโยบายมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยการนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ รองศาสตราจารย์ปิยพันธ์ แสนทวีสุข รองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ และรองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้รวมองค์กรด้านต่าง ๆ เข้าร่วมในสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้แก่ โครงการอนุรักษ์ใบลาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหอศิลป์จำปาศรี เพื่อสร้างและพัฒนางานวิจัย รวมถึงการสนับสนุนทุนส่งเสริมการวิจัยทั้งภายในและภายนอกงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม งานบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมให้มีความโดดเด่น สามารถเป็นที่พึ่งให้กับชุมชน-สังคมได้อย่างยั่งยืนและเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ได้ปรับแผนกลยุทธ์โดยสร้างความสามารถและศักยภาพด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและความเข้มแข็งทางวิชาการของมหาวิทยาลัย พัฒนาองค์ความรู้เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายวิชาการในมิติการศึกษาศิลปะ-สังคม-วัฒนธรรม-ชาติพันธุ์ และอีสานศึกษา เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และบริการวิชาการ เพื่อการพัฒนา ฟื้นฟู สถาบันวิจัยศิลปะฯ โดยสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ชุมชนและท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรมและท้องถิ่นอีสานศึกษา สนับสนุนการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยคนในท้องถิ่นในมิติด้านศิลปะและวัฒนธรรม และอีสานศึกษา สร้างสื่อการเรียนรู้ และสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนเอง จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรม รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย และบริการวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมทั้งภายในและภายนอกอย่างกว้างขวางต่อไป
ผู้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ตามวาระ ดังนี้
๑. อาจารย์อาคม วรจินดา | ปี พ.ศ.๒๕๒๙ – พ.ศ.๒๕๓๘ |
๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์มุณี พันทวี | ปี พ.ศ.๒๕๓๘ – พ.ศ.๒๕๔๒ |
๓. อาจารย์อาคม วรจินดา | ปี พ.ศ.๒๕๔๒ – พ.ศ.๒๕๔๖ |
๔. อาจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร | ปี พ.ศ.๒๕๔๖ – พ.ศ. ๒๕๕๐ |
๕. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงคุณ จันทจร | ปี พ.ศ.๒๕๕๐ – พ.ศ. ๒๕๕๔ |
๖. รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงษ์สุวรรณ | ปี พ.ศ.๒๕๕๔ – พ.ศ. ๒๕๖๓ |
๗. อาจารย์ทม เกตุวงศา | ปี พ.ศ.๒๕๖๓ – ปัจจุบัน |