กิจกรรม “Grand Opening : Mahasarakham Happy Model”
วันที่ 23 – 25 มีนาคม 2567 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จัดโครงการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชน ด้วยแนวคิด BCG และโมเดลอารมณ์ดีของจังหวัดมหาสารคามและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ กิจกรรม “Grand Opening : Mahasarakham Happy Model” ร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) และภาคีพันธมิตรการท่องเที่ยว ในการท่องเที่ยว 4 เส้นทาง (Fam Trip) มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูพักตร์ สุทธิสา เป็นหัวหน้าโครงการฯ ได้นำตัวแทนจาก 12 บริษัทนำเที่ยว ร่วม Fam Trip ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางอำเภอนาดูน เส้นทางอำเภอแกดำ เส้นทางอำเภอกันทรวิชัย และเส้นทางอำเภอโกสุมพิสัย เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยภายในประเทศเพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชนบท ส่งเสริมและสนับสนุนให้ มีการอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม อีกทั้งเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสมาชิก ผู้ใช้บริการ และผู้บริโภค
ผู้มีส่วนร่วม มีตัวแทนจาก บจก.ดับเบิ้ล ที ทราเวล, บจก.พี สมายด์ ทราเวล, หจก.เกาะช้างเจนเนอร์เรชั่น ทัวร์, บจก.เนเจอร์ไลน์ ทราเวล, ไมท์ตี้ พลัส ทราเวล, หจก.วี.เอ.แอร์ทิคเกตแอนด์ทราเวล, บจก.ลีเชอร์ไทม์ ทราเวล, บจก.หรรษา ฮอลิเดย์, บจก.ไมค์ทีมทัวร์ อินเตอร์เนชั่นแนล, บจก.ซีอีโอ19, บจก.พาร์ทเนอร์ ทริป และบจก.กรีนแลนด์ฮอลิเดย
ผลการมีส่วนร่วม จากการร่วม Fam Trip ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 4 เส้นทาง ตัวแทนจากบริษัทนำเที่ยวได้ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในแต่ละเส้นทาง ดังนี้
- เส้นทางอำเภอนาดูน
– ควรจะร้อยเรื่องราวเหตุและผลในการสร้างบ้านในแบบพิพิธภัณฑ์บ้านอีสาน จะทำให้นักท่องเที่ยวคล้อยตาม และควรทำข้อมูลใส่ใน QR เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้พร้อมกับการท่องเที่ยวเมื่อไม่มีมัคคุเทศก์ประจำ ณ จุดท่องเที่ยว
– สถานที่ท่องเที่ยวจะต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย ทุกข้อจำกัด
– เพิ่มจุดถ่ายรูป และจุดถ่ายรูปเช็คอิน
- เส้นทางอำเภอแกดำ
– ครอบครัว เสนอแนะให้เปิดพื้นที่สำหรับกางเต้นท์พักผ่อนริมน้ำชมพระอาทิตย์ตก หรือมีกิจกรรมทางน้ำ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาสถานที่บ่อยมากขึ้น
– ปรับภูมิทัศน์ของห้องประชุมให้เห็นวิวหนองน้ำแกดำ 360 องศา
– แนะนำให้มีกิจกรรมเดินข้ามสะพานไม้ไปตักบาตรตอนเช้าที่วัด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชนแบบดั้งเดิม (เดือนละ 1 ครั้ง หรือจัดพร้อมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา)
- เส้นทางอำเภอกันทรวิชัย
– ควรจะมี QR code แนะนำข้อมูล ประวัติ เกี่ยวกับสถานที่วัด เผื่อนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาแต่ไม่เจอไกด์
– สร้างนักเล่าเรื่อง (ที่เป็นคนในชุมชนจริงๆ) ให้เล่าเรื่องเก่ง นำเสนอเก่ง และเป็นคนดำเนินรายการ บริหารจัดการเวลาให้กับคณะนักท่องเที่ยวด้วยตนเอง
- เส้นทางอำเภอโกสุมพิสัย
– ขยายกิจกรรมเชิงเกษตร ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองทำการเกษตร เช่น การทำถ่าน การทำอาหารไก่
– ลดการใช้พลาสติกมากกว่านี้ เช่น ลดการแจกน้ำพลาสติกขวดเล็ก และปรับเปลี่ยนเป็นจุดเติมน้ำแทน
– เพิ่มการนำเสนอให้น่าสนใจ เพื่อใช้เวลาในการเข้าฐานเรียนรู้ได้มากขึ้น ให้นักท่องเที่ยวทุกคนมีส่วนร่วม
ผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุง ทีมนักวิจัยได้รวบรวมข้อแนะนำต่าง ๆ แล้วนำไปปรับปรุงสถานที่ แผนการท่องเที่ยว แผนการต้อนรับนักท่องเที่ยวร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวครั้งต่อไป ได้ดำเนินการเบื้องต้น ดังนี้
- เส้นทางอำเภอแกดำ ได้ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านในการจัดกิจกรรมเดินข้ามสะพานไม้ไปตักบาตรตอนเช้าที่วัดในช่วงวันสำคัญทางศาสนาแล้ว ทางชุมชนได้นำแนวทางไปวางแผนการจัดกิจกรรมอีกครั้ง
- เส้นทางอำเภอโกสุมพิสัย ทีมวิจัยได้ดำเนินการปรับกิจกรรมในเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอโกสุมพิสัย โดยการปรับเวลาในการทำกิจกรรมฐานการเรียนรู้เพิ่มขึ้น ปรับกิจกรรมจากการชมการทำอาหารไก่เป็นการให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมทดลองทำ และปรับลดการแจกน้ำขวดพลาสติกเป็นจุดเติมน้ำโดยใช้แก้วส่วนตัวในพื้นที่ทำกิจกรรม
.
สำหรับคำแนะนำอื่น ๆ ทีมวิจัยจะมีการประชุมถอดบทเรียนกับชุมชนทั้ง 4 เส้นทางอีกครั้ง
.