โครงการสีสันหลากหลายลวดลายสวยสะดุดตากับศิลปะผ้ามัดย้อม เพื่อเพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรม
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดโครงการสีสันหลากหลายลวดลายสวยสะดุดตากับศิลปะผ้ามัดย้อม เพื่อเพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีนางอัจฉรี จันทมูล นักวิจัยชำนาญการ (หัวหน้าโครงการ) กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน ประธานเปิดงาน นายนิโรจน์ ไชยกองชา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบัวค้อ และในการจัดโครงการครั้งนี้มีอาจารย์ บุคลากรสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ชาวบ้านบ้านหนองบัว/ผู้นำชุมชน หมู่ที่ 4 ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม และคณะครูนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองบัวโนนมี้ ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จำนวน 70 คน ณ ศาลากลางบ้านบ้านหนองบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
สำหรับโครงการสีสันหลากหลายลวดลายสวยสะดุดตากับศิลปะผ้ามัดย้อม เพื่อเพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรม จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดความรู้และทักษะศิลปะผ้ามัดย้อม เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรม และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้
ในการนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์กฤษฎา ภูพลผัน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าบาติกและผ้ามัดย้อม อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นวิทยากรบรรยาย ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการสำรวจความต้องการของชุมชนที่มีการทอผ้าไหมในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม พบว่า บ้านหนองบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบัวค้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม มีความต้องการให้หน่วยงานหรือให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอบรมให้ความรู้ เพื่อที่จะสามารถเพิ่มคุณค่าและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้นผู้รับผิดชอบโครงการได้เล็งเห็นความสำคัญของชุมชนที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และสร้างรายได้ จึงจัดโครงการเพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน โดยได้นำองค์ความรู้และทักษะในศิลปะผ้ามัดย้อมที่จะสามารถเพิ่มคุณค่าภูมิปัญญาด้านศิลปะและวัฒนธรรมให้กับผลิตภัณฑ์เดิมสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แก่ชุมชน พร้อมทั้งชุมชนเกิดการอนุรักษ์และสืบสาน ภูมิปัญญาศิลปะผ้ามัดย้อมภูมิปัญญาไว้ อันสามารถจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ พัฒนาเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน อนาคตอาจจะสร้างเครือข่ายศิลปะผ้ามัดย้อมที่หลากหลายในชุมชนอื่นๆ และเกิดการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ศิลปะผ้ามัดย้อมในรูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากการได้รับองค์ความรู้ในครั้งนี้
ภาพ/ข่าว : อัจฉรี จันทมูล
ที่มา : สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน