เปิดเส้นทางท่องเที่ยว “Happy Maha Sarakham” อ.เมือง – กันทรวิชัย Maha Sarakham BCG Happy Model Tourism

Happy Maha Sarakham
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จัดทดลองเส้นทางท่องเที่ยว ‘Happy Maha Sarakham’ (Maha Sarakham BCG Happy Model Tourism อำเภอเมืองฯ-กันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม YEC หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้โครงการ “การยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยชุมชนด้วยแนวคิด BCG และโมเดลอารมณ์ดีของจังหวัดมหาสารคามและพื้นที่เชื่อมโยงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ”
.
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา เป็นหัวหน้าโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เส้นทางท่องเที่ยว ‘Happy Maha Sarakham’ เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรองจังหวัดมหาสารคามให้เป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวคุณภาพ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมถูกออกแบบให้สอดคล้องกับแนวคิดที่สำคัญ 5 ส่วน ได้แก่
  1. โมเดลเศรษฐกิจ BCG
  2. โมเดล อารมณ์ดี มีความสุข (Happy Model: กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันดี)
  3. การท่องเที่ยวโดยชุมชนตามมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ประเทศไทย (CBT Thailand Standard)
  4. การท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism)
  5. การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ในเส้นทางท่องเที่ยว การบริการด้านที่พัก ร้านอาหาร ร้านค้า โดยมี 4 เส้นทางตามความโดดเด่นของเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของจังหวัดมหาสารคาม ได้แก่ เส้นทางอำเภอเมืองฯ-กันทรวิชัย อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอแกดำ และอำเภอ นาดูน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ตามความสนใจทั้งแบบทริปครึ่งวัน ทริปหนึ่งวัน และทริปสองวัน การทดลองเส้นทางท่องเที่ยวในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในการจัดสรรนิสิตและคณาจารย์ชาวจีนมาเป็นนักท่องเที่ยวทดลอง เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวจีน อันเป็นกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต
.
ในขณะเดียวกันได้รับเกียรติจากนักท่องเที่ยวทดลองกิตติมศักดิ์ ได้แก่ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานสำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รองศาสตราจารย์ ดร.กุลวดี อภิชาตบุตร หัวหน้าโครงการย่อย 1 OKR หัวหน้าส่วนราชการ ในจังหวัดมหาสารคาม ผู้แทนบริษัทนำเที่ยว และสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคามต่อไป
.
กิจกรรมการทดลองเส้นทางท่องเที่ยว ‘Happy Maha Sarakham’ อำเภอเมืองฯ-กันทรวิชัย ประกอบด้วย
  • จุดที่ 1 ต้อนรับนักท่องเที่ยว ณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จารึกนามในใบลาน เพื่อนำกลับเป็นของที่ระลึก กราบสักการะขอพร พระพุทธกันทรวิชัย อภิสมัยธรรมนายก (พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เมืองมหาสารคาม ร้อยรัดความจงรักภักดีต่อ ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์) เพื่อความเป็นสิริมงคล เดินทางตลอดปลอดภัย
  • จุดที่ 2 เดินทางไปยังวัดพุทธมงคล ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย สักการะ “พระพุทธมงคล” หลวงพ่อพระยืน องค์พ่อในตำนาน ท้าวลินจง-ลินทองแห่งเมืองคันธารวิสัย เมืองโบราณสมัยทวารวดี พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาอายุราว 1,200 ปี จากนั้นแบ่งฐานที่ 1 ทำ “เครื่องรางสมุนไพร” บรรจุลงในถุงผ้า เป็นเครื่องรางแห่งความรัก ความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดปลอดภัย ฐานที่ 2 ทำผางประทีปดอกผึ้ง เพื่อเป็นพุทธบูชาสักการะหลวงพ่อ พระยืน และให้เช่า บูชา “เหรียญพระพุทธกันทรวิชัย” ไปปกปักรักษา บันดาลโชคลาภ
  • จุดที่ 3 เดินทาง ไปยัง “บ้านสวนซุมแซง” (บ้านสวนเกษตรกรรมยั่งยืน) ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย welcome drink ด้วยน้ำอัญชันมะนาวเพื่อสุขภาพ พร้อมแบ่งฐานที่ 1 ห่อข้าวต้ม “ข้าวอินทรีย์ 3 สี 3 รส” ฐานที่ 2 ย่างและชิม “ปลาส้มไร้ก้าง” และฐานที่ 3 ทำลูกประคบสมุนไพร และ “แช่เท้า” ในน้ำสมุนไพรหรือสมุนไพรเม็ดฟู่ เพื่อคลายปวดเมื่อยและล้างพิษ จากนั้นเดินชม “แปลงเกษตรอินทรีย์” และอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน กลางวันรับประทานอาหารเมนู “อาหารเป็นยา” ประกอบด้วย ข้าวอินทรีย์ ปลาส้มไร้ก้าง ไข่เจียวสมุนไพร ต้มไก่สมุนไพร ลาบหมู ส้มตำไทย-ลาว ขนมหวาน (สาคูบัวลอย) พืชผักพื้นบ้านจากแปลงเกษตรอินทรีย์
  • จุดที่ 4 เดินทางไปยังวัดพุทธวนาราม (วัดป่าวังน้ำเย็น) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองฯ ชมอุโบสถไม้ตะเคียนใหญ่ที่สุดในโลก ปราสาท 3 ฤดู สักการะเจดีย์ศรีมหาสารคาม และเช่า บูชา วัตถุมงคลสืบต่อศรัทธาพระวชิรญาณวิศิษฏ์ วิ. หรือ พระอาจารย์สุริยันต์ โฆสปญฺโญ
  • จุดที่ 5 เดินทางไปยังสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองฯ ชมแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติริมแม่น้ำชี welcome drink น้ำฝางแดงเพื่อสุขภาพ และเดินชมป่าศึกษาธรรมชาติ “ป่าบุ่งป่าทาม” ต่อด้วยล่องเรือคายัคชมธรรมชาติ “ชีหลง” จากนั้นนักท่องเที่ยวเดินทางกลับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยสวัสดิภาพ

 

ข่าว – อาจารย์ทม เกตุวงศา
ภาพ – นายพัชรินทร์ ประทุมชาติ
.
ภาพเพิ่มเติม:  https://bit.ly/3T5TYja