สถาบันวิจัยศิลปะฯ จัดกิจกรรม ปลูกไผ่(กิมซุง)
เมื่อวันจันทร์ ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดกิจกรรมปลูกไผ่เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอนาคต ภายใต้โครงการหมู่บ้านจักสานไม้ไผ่บ้านลุมพุก โดยมี อาจารย์ทม เกตุวงศา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นางสาวบุญทิตตา บุญผิว นวส. ชำนาญการ งานอารักขาพืช และนางพวงพะยอม เยี่ยมยอด กำนันตำบลโคกพระ นำผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการฯ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้าน
ลุมพุก ร่วมในพิธีเปิดงาน ณ บ้านลุมพุก ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โอกาสนี้บุคลากรของสถาบันฯ ได้เจ้าร่วมโครงการในครั้งนี้ด้วย
นายสถิตย์ เจ็กมา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า โครงการหมู่บ้านจักสาน
ไม้ไผ่บ้านลุมพุก เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมความรู้ และทักษะในการจักสานไม้ไผ่ ส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ในชุมชนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในงานจักสานและประโยชน์ ทางด้านอื่นๆ สามารถสร้างสรรค์และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ พัฒนาอำชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึง เกิดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์งานจักสานไม้ไผ่ด้วยเทคนิคต่างๆ เกิดองค์ความรู้ด้าน ธุรกิจและการตลาด ตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์ การจัดโครงการดังกล่าวจะเป็นการยกระดับมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์และเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ของกลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้าน
ลุมพุก ให้หลากหลายมากขึ้นและสามารถขยาย กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มผู้ซื้อในตลาดระดับกลางและระดับบน ซึ่งมีกำลังในการซื้อมากขึ้น โดยใช้แนวทางการ ลดต้นทุนเพิ่มรายได้ ดังนั้นการดำเนินโครงการดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของชาวบ้านบ้านลุมพุก ที่จะขับเคลื่อนและร่วมมือกันให้สามารถสร้างกลุ่มที่เข้มแข็งและยั่งยืนจนสามารถแข่งขันขันกับตลาด สินค้าประเภทเดียวกันได้ในระดับภาคหรือระดับประเทศ การจัดโครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ในกิจกรรมโครงการมีการปลูกไผ่พันธุ์กิมซุงหรือไผ่ตงลืมแล้ง จำนวน 1,000 ต้น มีผู้เข้าร่วม จำนวน 100 คน โดยแบ่งสถานที่ในการปลูกเป็น 3 แปลง และให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนในการปลูกและดูแลรักษา โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกไผ่ในชุมชนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในงานจักสานและประโยชน์ทางด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์งานจักสานไม้ไผ่โดยใช้วัสดุหนังเป็นส่วนประกอบ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอาชีพ กระจายรายได้ แก้ปัญหาของชุมชน ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้สูงขึ้น ถ่ายทอดความรู้ด้านการออกแบบและตัดเย็บผลิตภัณฑ์งานจักสานไม้ไผ่ด้วยเทคนิคต่างๆ ถ่ายทอดความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดด้วยเนื้อหา (Content Marketing) และเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
การปลูกไผ่ในครั้งนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากไผ่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี ซึ่งไผ่ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำเครื่องจักสาน เผาถ่านเพื่อเป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ย ใช้น้ำจากไผ่เป็นเครื่องดื่มและสกัดเป็นครีมบำรุงผิว หน่อใช้เป็นอาหารหรือจำหน่าย ข้อดีของไผ่ชนิดนี้ที่แตกต่างจากไผ่ชนิดอื่นๆ คือไม่มีกรดยูริกที่ส่งผลต่อการปวดตามข้อ (อ้างอิงจาก อาจารย์บรรจง แสนยะมูล วิทยากรการอบรม เรื่องการถ่ายทอดปลูกไผ่ การดูแลรักษา การขยายพันธุ์ และการใช้ประโยชน์จากไผ่กิมซุง เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563) จากประโยชน์ดังกล่าวจะทำให้สมาชิกในชุมชนสามารถเพิ่มรายได้จากไผ่ โดยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้ในลำดับต่อไป
ภาพ/ ข่าว : สถิตย์ เจ็กมา และบุญชู ศรีเวียงยา
ที่มา : โครงการหมู่บ้านจักสานไม้ไผ่บ้านลุมพุก