นิสิตสาขาวิชาภาษาไทย มมส เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน นำโดย นายสถิตย์ เจ็กมา รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและภูมิทัศน์ พร้อมด้วยบุคลากรของสถาบันฯ ได้ต้อนรับคณะศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีอาจารย์อารีย์รัตน์ โนนสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยนิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาไทย จำนวน 63 คน ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน
โอกาสนี้ นางนิ่มนวล จันทรุญ เจ้าหน้าที่วิจัย ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับคราม โดยมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติที่มาของคราม พืชที่ให้สีคราม ขั้นตอนการทำเนื้อคราม การก่อหม้อคราม รวมไปถึงกระบวนการย้อมคราม และหม้อครามของแต่ละประเทศ ต่อมา นายนครินทร์ ทาโยธี นักวิชาการศึกษา ได้บรรยายพิเศษในเนื้อหาที่อธิบายถึงแนวคิดและแนวทางในการปฏิบัติงานทั้งในส่วนงานภายในองค์กรและงานโครงการที่ดำเนินการร่วมกับชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้และการจัดการองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมแก่นิสิต โดยการนำแนวคิดและแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นใช้เป็นกระบวนการในการศึกษา เรียนรู้เรื่องราวทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์ระหว่างผู้คน สภาพแวดล้อมธรรมชาติ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบแนวคิดและแนวทางในการจัดการพิพิธภัณฑ์ โดยใช้เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการจัดการองค์ความรู้ การนำเสนอ ถ่ายทอดความรู้ทางวัฒนธรรมที่มีความน่าสนใจ ซึ่งแนวคิดและแนวทางดังกล่าวถูกนำมาปรับใช้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย และสามารถปรับรูปแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่น ตลอดจนการเรียนรู้ของผู้ชมทั่วไปผ่านรูปแบบต่างๆ นิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ อย่างง่ายๆ
หลังจากนั้นนางอัจฉรี จันทมูล และนางนิ่มนวล จันทรุญ ได้นำชมนิทรรศการชั้น 3 อาทิเช่น พัฒนาการเลี้ยงไหม เริ่มจากวันอ่อน และวัยแก่ การสาวเส้นใยไหม 4 ลักษณะ คือไหมลืบ ไหมน้อย ไหมแลง และไหมเลย การฟอกกาวไหม การย้อมสีไหม การมัดหมี่/การค้นเครือหูก การทอผ้า การออกแบบลายผ้าจากลายผ้าแส่ว ผ้าที่ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน และวิถีภูมิปัญญาผ้าทออีสาน โดยตลอดการบรรยายพิเศษ และการชมนิทรรศการนั้น นิสิตได้ให้ความสนใจในการศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งยังได้รับประสบการณ์ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากแหล่งเรียนรู้ของสถาบันฯ โดยสามารถคัดสรรเนื้อหาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ เป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นวิชาภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง
ภาพ/ข่าว : บุญชู ศรีเวียงยา