สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2559

งานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประจำปี 2559

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 เวลา10.30 น. สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ประจำปี 2559 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานเครื่องถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมกล่าวได้แสดงความยินดีกับศิลปินที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ และผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จากนั้นได้มอบรางวัล “นาคราช” แก่ศิลปิน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐม หงส์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ ในการนี้มีผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นิสิต และศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้เข้าร่วม ณ โรงแรมตักสิลา จังหวัดมหาสารคาม

 

การจัดงานเชิดชูเกียรติในครั้งนี้สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 จัดขึ้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเป็นอัครศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา อีกทั้งเป็นการเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านอีสาน ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน สาขาดนตรีและนาฏกรรม และสาขาภาษาและวรรณกรรม รวมทั้งบุคคลที่มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม 5 สาขา ได้แก่สาขาศาสนาและประเพณี สาขาการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม สาขานิเวศน์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และสาขาอาหารและโภชนาการ ตลอดจนเป็นเพื่อเป็นการสืบทอดและสร้างจิตสำนึกที่ดีของประชาชนให้เกิดความ ภาคภูมิใจ เกิดความรัก ความหวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งอนุรักษ์และพัฒนาให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

 

โดยในปี 2559 มีศิลปินพื้นบ้านอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมที่ได้รับการเชิดชู เกียรติ ประกอบด้วย พระสงฆ์ บุคคล และกลุ่ม รวม 20 รางวัล แบ่งเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน 3 รางวัล สาขาดนตรีและนาฏกรรม 5 รางวัล สาขาภาษาและวรรณกรรม 3 รางวัล ส่วนผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมสาขาศาสนาและประเพณี 2 รางวัล สาขาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 3 รางวัล สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม 1 รางวัล สาขานิเวศน์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 2 รางวัล และสาขาอาหารและโภชนาการ 1 รางวัล ดังนี้

 

1. ศิลปินพื้นบ้านอีสาน
สาขาศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน
1. พระอุดล อคฺคธมฺโม (ช่างพื้นบ้าน)
2. นางอุไรวรรณ วิเศษแสง (ทอผ้าไหม)
3. กลุ่มจักสานไทเลย (จักสานไม่ไผ่)

สาขาดนตรีและนาฏกรรม
1. นายศักดิ์สยาม เพชรชมพู (นักร้องเพลงลูกทุ่ง)
2. นางจันทร์เพ็ญ เด่นนภา (หาญชัย) (หมอลำกลอน)
3. นางชมศรี ภู่เงินงาม (เจรียงเบริน)
4. นายจุม แสงจันทร์ (เจรียงตรัว, เจรียงจับเป็ย)

สาขาภาษาและวรรณกรรม
1. นางทองเลี่ยม เวียงแก้ว (ผู้เล่าประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม)
2. รองศาสตราจารย์ ดร.วยุพา ทศศะ (นักเล่านิทานสองภาษา)
3. นายยธพร ธนสีลังกูร (นักประพันธ์)

2. ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม
สาขาศาสนาและประเพณี
1. พระครูสีลสาราภรณ์ (วัฒนธรรมชุมชน)
2. นายหมิว ศาลางาม (หมอช้าง)

สาขาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
1. กลุ่มชุมชนบ้านนาอ้อ (พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวิจารณ์สังฆกิจ)
2. กลุ่มตะไลล้านกุดหว้า (ตะไลล้าน)
3. นางเสลี่ยง สิทธ์เทียมทอง (การจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น)

สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
1. กลุ่มทอผ้าไหมกุดรัง (ทอผ้าไหม)

สาขานิเวศน์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
1. นายบุญเรือง ยางเครือ (อนุรักษ์ธรรมชาติ)
2. นายอรรถพันธ์ สิริคุ้มครองกุล (การจัดการทรัพยากรธรรมชาติป่าชุมชน)

สาขาอาหารและโภชนาการ
1. นางบรรจง แมนสถิต (อาหารพื้นบ้านอีสาน)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โทร. 043 754333 ต่อ 6119

ภาพ : แสงเทียน วงษาเวียง และอภิราม ทามแก้ว
ข่าว : แสงเทียน วงษาเวียง